วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

วนอุทยาชีหลง

บริเวณที่สาธารณประโยชน์โคกป่ายาง(ชีหลง) ที่ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยานชีหลงนี้ เป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่สาธารณประโยชน์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่บ้าน-วังหว้า หมู่ที่ 6 ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ระยะทางจากที่ว่าการอำเภอกันทรวิชัยประมาณ 11 กิโลเมตร และจากตัวเมืองมหาสารคามประมาณ 7 กิโลเมตร กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจและจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2525

ประวัติความเป็นมา

จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่สาธารณประโยชน์โคกป่ายาง (ชีหลง) เป็นป่าเบญจพรรณตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี มีสภาพสมบูรณ์ดี อยู่ไม่ห่างไกลจากที่ชุมชน ในอดีตพื้นที่ทางทิศตะวันตกยังไม่แยกขาดออกจากกันเช่นทุกวันนี้ แม่น้ำชีจะไหลเลียบอ้อมพื้นที่บริเวณนี้ไปได้โดยตลอด ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ ต่อมาพื้นที่ส่วนที่คอดกิ่วทางด้านทิศตะวันตกถูกกระแสน้ำไหลกัดเซาะจนขาด เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้วทำให้เกิดแม้น้ำชีเส้นใหม่ จึงทำให้ลำน้ำเดิมถูกแยกขาดทอดทิ้งแปรสภาพพื้นที่ร้อยกว่าไร่เป็นเกาะ เนื่องจากอิทธิพลของธรรมชาติบันดาลให้ลำน้ำเปลี่ยนทิศทางที่บริเวณนี้ดูคล้าย ๆ ปากอ่าว ทางด้านทิศตะวันตกถูกกระแสน้ำพัดเอาดิน หินทรายทับถมกลายเป็นคันฝายขนาดใหญ่ ก็เลยทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ตามธรรมชาติลำน้ำที่ได้แปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันถูกขนานนามว่า ชีหลง ตราบเท่าทุกวันนี้ จึงเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งที่ดึงดูดใจจากความอุดมสมบูรณ์ของน้ำที่หล่อเลี้ยงตลอดปี ทำให้พืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ขึ้นอยู่หนาแน่นเขียวชะอุ่ม นก-ป่ายนานาชนิดได้อาศัยพื้นที่นี้ได้อย่างสบาย

สภาพพื้นที่

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ มีน้ำในลำชีหลงล้อมรอบด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ตลอดปีเฉพาะด้านตะวันตกแม้ข้างเคียงตะระบุจดแม่น้ำชีก็ตาม แต่สภาพที่แท้จริงแล้ว ด้านนี้เป็นฝายธรรมชาติทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้เป็นอย่างดี จึงเป็นจุดเด่นพิเศษทำให้ดูสภาพเกือบเป็นเกาะ ซึ่งแปลกออกไปอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนใคร

ชนิดพันธ์ไม้

ชนิดพันธุ์ไม้มีพรรณไม้หลายชนิดส่วนใหญ่ไม้พื้นบกที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง รองลงมาได้แก่ ทองกวาว หรือที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า จาน) หว้า ฉมวน มะพลับ แค กระทุ่ม มะม่วง จามจุรี มะเดื่อ กะเยา กะโดน งิ้วป่า ตะแบก นอกจากนี้ยังมีไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่ ข่อย ไม้พุ่มและไม้หนามต่าง ๆ

สภาพอากาศ

สภาพอากาศในท้องถิ่นยี้แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูฝน ตั้งแต่เดือน มิถุนายน - พฤศจิกายน

ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ธันวาคม - กุมภาพันธ์

ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม

อาณาเขต

มีอาณาเขตติดต่อข้างเคียงดังนี้

ทิศเหนือ จด ลำชีหลง

ทิศใต้ จด ลำชีหลง

ทิศตะวันออก จด ลำชีหลง

ทิศตะวันตก จด แม่น้ำชี

การเดินทาง

การเดินทางไปวนอุทยานชีหลง เดินทางจากจังหวัดมหาสารคามตามทางหลวงแผ่น-ดินสายมหาสารคาม-กาฬสินธุ์ ถึงกิโลเมตรที่ 6 บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย ซึ่งเป็นทางลาดยางตลอด ขวามือจะเป็นทาง ร.พ.ช. เป็นทางดินลุกรังเข้าสู่หมู่บ้านวังหว้า เส้นทางนี้เลียบแม่น้ำชีก่อนจะถึงบ้านหว้า แยกขวามือเป็นทางสาธารณประโยชน์เลียบแม่น้ำชีและสิ้นสุดที่ฝายน้ำกั้นชลประทาน รวมระยะทางจากจังหวัดมหาสารคามตามเส้นทางไปจังหวัดกาฬสินธ์ถึงวนอุทยานชีหลงเพียง 11 กม. เท่านั้น

สิ่งอำนวยความสะดวก

สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นทางวนอุทยานชีหลงไม่มีบ้านพักสำหรับบริการแก่นักท่องเที่ยวเหมือนกับอุทยานแห่งชาติ หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรมค้างคืนหรือทัศนศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต้นท์ไปกางเองทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเองแล้วไปติดต่อขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 5614292ต่อ 719 ฝ่ายจัดการวนอุทยาน ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900 ในเวลาราชการ หรือ สำนักงานป่าไม้จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โทร. (043) 723099


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น